อุโบสถเงิน นวัตกรรมภูมิปัญญาชาวบ้าน

อุโบสถเป็นศาสนาสถานประกอบศาสนกิจในการทำสังฆกรรม ลงอุโบสถสวดพระปาฎิโมกข์ พิธีอุปสมบทและพิธีกรรมอื่นๆ ของพระภิกษุสงฆ์ ในบวรพระพุทธศาสนา นับว่าอุโบสถเป็นศาสนาสถานที่สำคัญอย่างหนึ่ง หากไม่มีอุโบสถ ศาสนกิจสำคัญหลายประการย่อมดำเนินไปให้บริบูรณ์ได้ยาก เพราะฉะนั้นในแต่ละวัดจึงจัดให้มีการสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถให้สมบูรณ์มั่นคง เอื้อประโยชน์ในการใช้อย่างยิ่ง อุโบสถวัดศรีสุพรรณหลังเดิมได้ชำรุดทรุดโทรมลงจนไม่เหลือเค้าโครงเดิม แต่ก็ได้รับการบูรณะซ่อมแซมจากเจ้าอาวาสและคณะศรัทธาวัดศรีสุพรรณในแต่ละสมัยเป็นลำดับมา

บัดนี้พุทธศักราช ๒๕๔๗ นับเป็นเวลา ๔๙๕ ปี อุโบสถหลังดังกล่าวได้ชำรุดทรุดโทรมลงไม่สะดวกในการประกอบศาสนกิจ และอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานได้ พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาส พร้อมด้วยคณะสงฆ์ คณะกรรมการวัด และคณะศรัทธาวัดศรีสุพรรณ ได้มีความเห็นเป็นฉันทสามัคคี ที่จะก่อสร้างเป็นอุโบสถเงินโดยดำเนินการในเขตพัทธสีมาและฐานเดิม แต่จะเพิ่มเติมในส่วนของรูปทรงให้เป็นแบบสถาปัตยกรรมล้านนาโบราณ โครงสร้างก่ออิฐถือปูน และประดับตกแต่งลวดลายทุกส่วนด้วยหัตถกรรมเครื่องเงิน วัสดุเงินบริสุทธิ์ใช้ประดับ ส่วนที่สำคัญและปลอดภัย เช่น ฉัตรบนยอดหลังคาและ ซุ้มสำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ วัสดุเงินผสม อะลูมิเนียม และดีบุก สลัก ลวดลายเป็นภาพสามมิติ ลวดลายนูนสูง-นูนต่ำ เรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศิลป์ปริศนาธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา สัญลักษณ์แทนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประวัติศาสตร์ของวัดและชุมชน ประดับตกแต่งส่วนอื่นๆ ทั้งหลัง โดยกลุ่มหัตถศิลป์ล้านนาวัดศรีสุพรรณ

นอกจากจะเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านหัตถกรรมเครื่องเงิน ถนนวัวลาย ไว้เป็นมรดกสืบทอดไปสู่อนุชนรุ่นหลังให้ยั่งยืนต่อไป

Pin It on Pinterest

Share This