ประวัติวัดศรีสุพรรณ และพัฒนาการการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นหัตถกรรมเครื่องเงิน

สร้างในสมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์ในราชวงศ์มังราย โปรดเกล้าฯให้นำเอาพระเจ้าเจ็ดตื้อ หรือพระพุทธปาฏิหาริย์ฯ มาประดิษฐาน ในปีพ.ศ. 2043 แล้วจัดสร้างพระวิหารบรมธาตุเจดีย์ และอุโบสถ ต่อมาในปีพ.ศ. 2052 ทรงประกอบพิธีผูกพัทธสีมาอุโบสถ แล้วนำพระเจ้าเจ็ดตื้อมาประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถดังกล่าวจวบถึงปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2537 พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสลำดับที่ 9 องค์ปัจจุบันพร้อมด้วยคณะกรรมการ และชาวบ้านศรีสุพรรณได้ทำการบูรณะวิหารวัดศรีสุพรรณ ได้วาดจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพระธาตุ 12 ราศี ภาพพระธาตุเจดีย์ ศูนย์กลางเมืองเชียงใหม่ในอดีตและภาพปริศนาธรรมโลกทั้ง 3 และได้นำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านหัตถกรรมเครื่องเงินการดุนลาย ภาพพระพุทธประวัติ ภาพพระเจ้าสิบชาติ ภาพพระเวสสันดรชาดก ประดับตกแต่งฝาผนังวิหารโบราณดังกล่าว นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นแนวคิดการอนุรักษ์สืบสานและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นหัตถกรรมเครื่องเงินชุมชนย่านวัวลายบูรณาการ การสืบทอดพระพุทธศาสนาให้มีคุณค่ายิ่งขึ้น

ต่อมาได้ก่อตั้งกลุ่มช่างภูมิปัญญาชาวบ้านหัตถกรรมเครื่องเงินเรียกชื่อว่า “กลุ่มหัตถศิลป์ล้านนาวัดศรีสุพรรณ” และปี พ.ศ. 2550 ริเริ่มจัดตั้งศูนย์ศึกษาศิลปะไทยโบราณสล่าสิบหมู่ล้านนาวัดศรีสุพรรณ โดยความร่วมมือกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) และหน่วยงาน ทุกภาคส่วนเพื่อสืบสานมรดก อัตลักษณ์เครื่องเงินชุมชนย่านวัวลายอย่างเป็นระบบสู่คนรุ่นใหม่สืบไป

Pin It on Pinterest

Share This